วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Isabel Quiroga: ความทรงจำจากอดีตและความหมายในปัจจุบัน


ต้องยอมรับว่า “ดัตช์ดีไซน์” เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของวงการออกแบบในโลกปัจจุบันอย่างไม่ต้องกังขา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งนโยบายเครษฐกิจสร้างสรรค์หรือโครงการอื่นๆจากภาครัฐแต่อย่างใด แถมดินแดนต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแห่งนี้ยังผลิตดีไซเนอร์ชั้นนำออกมามากมายหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น มาร์เซล วันเดอร์ส (Marcel Wanders) อัจฉริยะสุดเพี้ยนจากสาขาโปรดักส์ดีไซน์, อิร์มา บูม (Irma Boom) เจ้าแม่แห่งงานกราฟฟิคและสิ่งพิมพ์, เรม คูลฮาส (Rem Koolhaas) ปรมาจารย์จากสำนักสถาปัตย์โอเอ็มเอ หรือ อดรีอาน เคอยุซ (Adriaan Geuze) แห่งเวสท์อัคท์ (West8) ทีมผังเมืองและภูมิสถาปนิกสุดแนว เป็นต้น

จริงอยู่ว่าการที่ดีไซเนอร์เหล่านี้จะฝ่าฟันขึ้นมาเป็นหัวแถวของวงการออกแบบโลกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรักษาความคงเส้นคงวาเอาไว้นั้นยากกว่ามาก เพราะขึ้นอยู่กับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆมากกว่าความสามารถของตัวบุคคล โชคดีที่เนเธอร์แลนด์เป็นดินแดนซึ่ง “เปิดกว้างทางความคิด” ทำให้กลายเป็นโรงบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์งานออกแบบเชิงทดลองที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป ถึงกระนั้นก็ตามระบบการศึกษาและวงการออกแบบของดัตช์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตรงกันข้ามยังคงผลิตนักออกแบบรุ่นใหม่ๆที่มีผลงานและแนวคิดน่าจับตามองในระดับนานาชาติออกมาอย่างต่อเนื่อง เรียกง่ายๆว่าดัตช์ดีไซน์นั้นสร้างชื่อได้ทุกวันนี้ เพราะไม่ได้อาศัยกินบุญเก่ากันท่าเดียว

อิซาเบล ไควโรกา (Isabel Quiroga) จัดว่าเป็น “ดัตช์ดีไซน์เนอร์” รุ่นใหม่ที่มีผลงานเป็นที่ฮือฮาในงาน “อิมม์ โคโลจ์น” (Imm Cologne) ปี 2007 ในฐานะผู้เข้าชิงรางวัลThe Young Talent Innovation Award” ซึ่งในขณะนั้นอิซาเบลเพิ่งจบ สถาปัตย์จาก “Academie Beeldende Kunst & Vormgevingหรือสถาบันศิลปกรรมแห่งเอนซะเด (Enschede) มาได้เพียงสองปี โดยก่อนหน้านี้เธอมีประสบการณ์กับการทำงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในโครงการ Dutch Design in Development ในอินโดนีเซียมาอีกหนึ่งปีเท่านั้น จากนั้นใช้เวลาอีกสามปีในสร้างชื่อจนเป็นดีไซเนอร์ที่มีผลงานน่าจับตามอง มีผลงานตีพิมพ์อยู่ในสื่อดีไซน์ชั้นนำ อย่าง Frame และ Spazio Casa ฯลฯ แถมยังจัดแสดงงานไปทั่วยุโรปไม่ว่าจะเป็น อัมสเตอร์ดัม มิลาน แฟรงค์เฟิรต์ และโคโลจ์น

งานของอิซาเบลมีความโดดเด่นในการเล่นกับความหมายที่ผูกติดกับวัตถุสิ่งของหรือความเคยชินของผู้คน เธอมักทำการโยกย้ายสลับตำแหน่งแห่งที่ ตลอดจนเปลี่ยนรูปแบบของความหมายและการใช้งานเสียใหม่ ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างไปจากความทรงจำที่มีมาแต่เดิม งานที่โดดเด่นที่สุดชิ้นหนึ่งก็คือ Storyteller ซึ่งอิซาเบลได้ใช้ “โต๊ะมือสอง” เอามาหั่น แยก แบ่ง ทาสีและจัดเรียงใหม่บนผนัง เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานให้กลายเป็นตู้หนังสือได้อย่างน่าทึ่ง เธออธิบายว่า “ของมือสอง” นั้นหากมันพูดได้คงมีเรื่องราวมากมายที่จะบอกเราและนี่เป็น “คุณค่า” ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตออกมาแบบโหลๆไม่มี และเธอมักจะใช้ประเด็นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของงานออกแบบอยู่เสมอ

การรีไซเคิล เปลี่ยนรูปการใช้งาน ตลอดจนสร้างความหมายใหม่ทับไปบนความทรงจำเก่า นั้นไม่ใช่ไอเดียใหม่ถอดด้ามในวงการออกแบบเสียทีเดียว ยิ่งโดยเฉพาะในหมู่ดัตช์ดีไซเนอร์ด้วยแล้ว งานหลายๆชิ้นที่ประทับตราเมดอินโดรก (Droog) อย่าง Chest of Drawer หรือ Milk Bottle Lamp ของเทโย เรมี (Tejo Remy) ก็จัดอยู่ในกลุ่มแนวคิดดังกล่าว ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ว่า รุ่นน้องอย่างอิซาเบลนั้นสนใจการนำ “ของมือสอง” มาเล่าใหม่ แต่รุ่นพี่อย่างเทโย เรมีนั้นสนใจที่จะเล่นกับ “สัญญะ” (Sign) ของวัตถุที่ถูกนำมาใช้งานแบบผิดฝาผิดตัวมากกว่า (นี่ไม่ใช่ขวดนมแต่เป็นโคมไฟหรือนั่นมันคือกองลิ้นชักหรือเฟอร์นิเจอร์กันแน่) แถมยังต้องผ่านกระบวนการทางโปรดักส์ดีไซน์ไม่น้อย เช่นเข้าโรงงานเพื่อแปรรูปหรือตกแต่งด้วยช่างฝีมือ เพื่อที่จะให้ผลลัพธ์ออกมา เรียบง่าย แต่แห้งและดิบในแบบของโดรก (Droog แปลว่า Dry ในภาษาอังกฤษ) แต่งานของอิซาเบลเมื่อดูแล้วจะใกล้เคียงกับงานประเภท “ดีไอวาย” มากกว่า เพราะคุณสามารถเดินไปสวนจตุจักรหาซื้อโต๊ะมือสองที่ถูกใจสักตัวสองตัว จากนั้นแบกกลับมาบ้าน จัดการเลื่อย ทาสี ติดตั้งเองที่ผนังได้เลย
  
ความคลั่งไคล้เรื่องราวและสิ่งของในอดีต ตลอดจนความหลงไหลในประวัติศาสตร์นั้นทำให้อิซาเบลออกแบบผลงาน The Low Lands ซึ่งเป็นตู้โต๊ะ (Desk Cabinet) อ้างอิงจากรถเข็นล้อเดียว (Wheel Barrow) ในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเธอเล่าว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบชิ้นนี้เกิดจากการอ่านและค้นคว้าอัตชีวประวัติของเจ้าชายวิลเลียม (William I, Prince of Orange) บิดาแห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งพระองค์เป็นทั้งนักการฑูตและนักเดินทาง แน่นอนมันคือที่มาของโต๊ะตู้ซึ่งเคลื่อนที่ได้ ทีเด็ดของงานชิ้นนี้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานเช่นเดียวกับงาน Storyteller ซึ่งเปลี่ยนจากโต๊ะมาเป็นตู้หนังสือ สำหรับ The Low Lands ก็เปลี่ยนเป็นรถเข็นให้กลายเป็นตู้โต๊ะ จากของที่ถูกทิ้งให้ตากแดดตากฝนอยู่ตามสวนหรือของมือสอง กลับกลายเป็นของใช้งาน (หรือตั้งโชว์) ในบ้าน ความทรงจำในอดีตถูกทาทับด้วยความหมายในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดคำถามในเรื่องคุณค่า เก่า/ใหม่ แท้/เทียม คลาสสิค/โมเดิร์น ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่ดีไซเนอร์สังกัดโพสต์โมเดิร์นนิสท์ทั้งหลายชอบเข้าไปก่อกวนให้เกิดความอลเวง


ท่าทีเช่นนี้อาจเป็นที่น่าแปลกใจสำหรับดีไซเนอร์ชาติอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบริบทเดียวกับดัตช์ดีไซเนอร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา เพราะอดีตและความทรงจำนั้น หากเป็นของคลาสสิคมักจะถูกยกเอาไว้บนหิ้ง แถมครูบาอาจารย์ยังสั่งห้ามเอาไว้ไม่ให้ไปแตะต้อง เข้าทำนองถ้าอยากจะโมเดิร์นก็ทำไป แต่ถ้าจะทำคลาสสิคก็ต้องให้เหมือนต้นฉบับ ด้วยเหตุนี้กระมังโพสต์โมเดิร์นในบ้านเราส่วนใหญ่จึงมีแต่งานบูชาครู พออยากจะทำไปในทางตรงกันข้ามก็กลายเป็นโพสต์แบบมั่วๆที่ผิดเพี้ยน ประเคนองค์ประกอบต่างๆจนอีรุงตุงนังด้วยความไม่รู้ (ซึ่งอาจแย่กว่าการเดินตามครูอย่างเคร่งครัดเสียอีก) อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเส้นทางนี้ก็ไม่ได้มุ่งสั่นคลอนหรือขัดแย้งกับระบบคุณค่าพื้นฐานแต่อย่างใด (จึงมักถูกวิจารณ์ว่าเป็นโพสต์ฯแค่เปลือก) ขณะที่พวกดัตช์ดีไซน์เนอร์นั้นเป็นเด็กมือซน ว่างๆก็หยิบของเหล่านี้ลงจากหิ้ง มาแกะดู พลิกซ้ายตะแคงขวา ไม่กี่ที ก็สามารถผลิตออกมาเป็นงานใหม่ๆไม่ซ้ำเดิมให้แปลกใจกันอยู่ได้เรื่อยๆ

ทัศนคติที่ว่าความทรงจำนั้นไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำให้ดัตช์ดีไซเนอร์รุ่นใหม่อย่างอิซาเบลสามารถเล่นสนุกกับความทรงจำในอดีตได้อย่างอิสระ ด้วยท่าทียั่วล้อ และมีอารมณ์ขัน ขณะเดียวกันแนวคิดเกี่ยวกับ “ของใช้ในชีวิตประจำวัน” เป็นสิ่งที่มีคุณค่าไม่ต่างจาก “ศิลปะคลาสสิค” (ศิลปะชั้นสูงไม่ได้เหนือกว่าศิลปะมวลชน) ซึ่งเจริญงอกงามอยู่ในดินแดนดอกทิวลิปมาช้านานและกลายเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมสมัยใหม่ ออกดอกออกผลให้เหล่าดีไซเนอร์ชาวกังหันลมรุ่นเยาว์ได้เก็บเกี่ยวเป็นแรงบันดาลใจ (และช่วยให้พวกเขา/เธอ ก้าวพ้นกับดักในเรื่องสไตล์หรือรูปแบบแห่งชาติไปได้ ขณะที่หลายๆคนในบ้านเรายังไม่ขึ้นมาจากหลุมดังกล่าวเลย) บางทีข้อสรุปอันย้อนแย้งของ เรนนี รามาเกอร์ส (Renny Ramakers) ผู้ก่อตั้งโดรกที่ว่า “การทำลายแบบแผนประเพณีในดัตช์ดีไซน์ นั่นแหละคือแบบฉบับของดัตช์” น่าจะเป็นคำอธิบายอันชัดเจนและแหลมคมที่สุดในกรณีดังกล่าว


อารอน เบทสกี (Aaron Betsky) อดีตไดเรกเตอร์แห่ง NAI (สถาบันสถาปนิกแห่งเนเธอร์แลนด์) เคยขยายความถึงแก่นสำคัญของวิธีคิดแบบดัตช์ว่า คือการนิยามใหม่ (Redefinition) และ การจัดระเบียบใหม่ (Reorganization) (ซึ่งน่าจะเกิดจากข้อจำกัดในทรัพยากร ทั้งในแง่วัตถุดิบและที่ว่างของประเทศเนเธอร์แลนด์) ส่งผลให้ พวกดัตช์ไม่สนใจสไตล์หรือรูปแบบ ไม่สนใจแนวคิดที่ฟุ้งเฟ้อล่องลอย ไม่ผูกติดกับวิธีการ ไม่ยึดติดกับสิ่งที่มีอยู่หรือเคยมี แต่มุ่งเน้นไปที่การประยุกต์แนวคิดเชิงปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างได้ผล หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นแนวคิดแบบสัจนิยม (Realism) ในงานออกแบบนั่นเอง

ย้อนกลับไปเมื่อราวๆยี่สิบปีก่อน เรนนี รามาเกอร์สและไคส์ บักเกอร์ (Gijs Bakker) สังเกตว่าโรงเรียนสอนออกแบบในเนเธอร์แลนด์มักมีแนวทางเหมือนๆกัน แถมนักศึกษายังมีไอเดียคล้ายๆกันอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ทั้งคู่จึงตัดสินใจก่อตั้งโดรกขึ้นเพื่อส่งเสริมและผลักดันผลงานไปในอีกทิศทางหนึ่ง เริ่มด้วยการไม่สนใจว่างานออกแบบนั้นต้องเป็นสิ่งใหม่หรือไม่ แต่เน้นไปที่การใช้เหตุผล บวกกับแนวความคิดและกรรมวิธีการผลิตที่ดิบและแห้ง (หมายความว่าคิดให้มากแต่ผลิตได้ง่าย) เสริมด้วยอารมณ์ขันเชิงล้อเลียน สิ่งต่างๆในโลกของความเป็นจริง ผลของมันก็คือนักเรียนและดีไซเนอร์สามารถคิดและออกแบบได้โดยไม่ต้องสนใจรูปลักษณ์ (สวย/น่าเกลียด) ในภายหลัง นวัตกรรมกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น มองข้ามสไตล์ ก่อให้เกิดรูปแบบเฉพาะของชิ้นงานที่ไม่ซ้ำใครขึ้น ทั้งหมดนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัตช์ดีไซน์เติบโตและแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกอย่างในทุกวันนี้

ข้อเท็จจริงซึ่งช่วยพิสูจน์ว่าดัตช์ดีไซน์ ไม่ใช่รูปแบบประจำชาติ แต่เป็น “วิธีคิดแบบหนึ่ง” ที่ใครๆก็สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้นั้นก็คือตัวอิซาเบลเอง เพราะเธอเป็น “ดัตช์ดีไซเนอร์” ที่เกิดและโตในเยอรมัน ก่อนย้ายมาเรียนและทำงานในเนเธอร์แลนด์ช่วงสิบปีให้หลัง ระบบการศึกษาของดัตช์มีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมโลกทัศน์และผลงานออกแบบของเธอ นอกจากนี้ยังเป็นข้อพิสูจน์ว่าไม่จำเป็นต้องเกิดหรือถือสัญชาติเนแธอร์แลนด์เท่านั้นจึงจะเข้าแก๊งค์ดัตช์ดีไซน์ได้

ถึงแม้ว่าจะทำงานในด้านอินทีเรียและโปรดักส์ดีไซน์เป็นส่วนใหญ่ แต่การเรียนด้าน Spatial Design ทำให้อิซาเบลผ่านการฝึกฝนกับดีไซเนอร์ตัวจริงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน สถาปนิก โปรดักส์ ภูมิสถาปัตย์ ฯลฯ ส่งผลให้เกิดมุมมองที่เปิดกว้างและหลากหลาย รวมไปจนถึงการบรรลุเทคนิคสำคัญที่เรียกว่า “การอ่าน” ซึ่งไม่ใช่แค่ค้นหาแรงบันดาลใจจากหนังสือเท่านั้น อิซาเบลเน้นว่าทักษะใน “การอ่าน” สิ่งต่างๆรอบๆตัวคือกุญแจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของในชีวิตประจำวัน ถังขยะที่หัวมุมถนน วัสดุต่างๆ  ล้วนเป็นที่มาของแรงบันดาลใจได้ทั้งสิ้น เคล็ดลับนั้นอยู่ที่การอ่านทุกครั้งจะทำให้เกิดความหมายใหม่ทับลงไปในสิ่งที่อ่าน ความทรงจำก็เช่นกัน เมื่อย้อนกลับไปอ่านหรือทบทวนดูก็จะเกิดแง่มุมใหม่ๆขึ้น หากสังเกตให้ดีเราจะพบว่าอดีตไม่ได้ถูกตรึงเอาไว้ “ตายตัว” ตรงกันข้าม มันกลับ “เลื่อนลอย” และเมื่อไรที่เราพยายามจะหยุดมันด้วยการให้ “ความหมาย” หรือ “นิยาม” ไม่นานนักมันก็จะเคลื่อนตัวออกไปอีก พวกดัตช์ดีไซเนอร์ส่วนใหญ่จึงชอบเล่นกับอดีตเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จีรัง เป็นสิ่งมีคุณค่าแต่ไม่ควรยึดถือ นอกเหนือสิ่งอื่นใดเป็นแรงบันดาลใจแต่ไม่ใช่วัตถุบูชา



Embroidery: อิซาเบลเป็นหนึ่งในศิลปินและนักออกแบบที่ถูกคัดเลือกเข้าร่วมในโครงการ “Local world” โดยทุกคนจะถูกมอบหมายให้คืนชีพ “ตู้เก่า” คนละหนึ่งใบ เพื่อจะนำออกประมูล งานนี้เข้าทางเธอซึ่งถนัดในเรื่องการแปลงโฉมของมือสองอยู่แล้ว ผลลัพธ์คือตู้ไม้พ่นสีเทาซึ่งถูกตกแต่งด้วยการเย็บปักลวดลายแบบงานผ้า?



Foldable: โต๊ะซึ่งสามารถพับเก็บขา (ซึ่งเป็นเนื้อเดียวกับพื้นโต๊ะ) และกลายเป็นของตกแต่งผนังได้ ความง่ายของไอเดียนี้ผนวกกับการเล่นกับประโยชน์ใช้สอยที่ไม่ตายตัวทำให้งานชิ้นนี้เป็นที่กล่าวขานและทำให้เธอกลายเป็นผู้เข้าชิงรางวัลในงาน Imm Cologne ปี 2007



  Storyteller: หนึ่งในผลงานที่ทำให้อิซาเบลถูกพูดถึงตามนิตยสารต่างๆมากที่สุด แถมยังพัฒนาไปเป็น Chapter One  และ Chapter two อีกต่างหาก ด้วยการใช้โต๊ะมือสองมาปรับเปลี่ยนประกอบใหม่กลายเป็นตู้ ไอเดียแบบดีไอวาย ดิบๆเช่นนี้ เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของดัตช์ดีไซน์ ที่ใครๆก็สามารถเอาไปคิดต่อยอดได้

Tray: ถาดวางอาหารแบบพับได้ เหมาะสำหรับใช้เสริฟในร้านอาหาร ใช้แค่กาว ไม้ และผ้าคลุม แน่นอนคุณสามารถทำเองที่บ้านได้ ง่ายจนสงสัยว่าทำไมไม่มีใครทำก่อน
The Low Lands: โต๊ะตู้แปลงร่าง ซึ่งได้ไอเดียมาจากรถเข็นล้อเดียว (เห็นได้บ่อยๆตามไซต์งานก่อสร้างและสวน) ถือกำเนิดจากการค้นคว้าอ่านชีวประวัติของเจ้าชายวิลเลียม ผู้ก่อตั้งดินแดนดัตช์ ความยาวของโต๊ะเท่ากับ 153.3 เมตร อ้างอิงจากวันเดือนปีเกิดของเจ้าชายองค์นี้ ใส่ล้อทำให้เคลื่อนที่ได้เพราะเหมาะกับชีวิตของพระองค์ซึ่งต้องระหกระเหินอยู่ไม่เป็นที่

Table Cloth: อิซาเบลรับงานตกแต่งภายใน เจ้าของบ้าน มีโต๊ะเก่าอยู่และมีเก้าอี้หลายตัวสำหรับใช้งานไม่ซ้ำแบบกัน เธอปูผิวหน้าใหม่บนโต๊ะเก่า โดยทำออกมาในรูปแบบของผ้าคลุมโต๊ะสีขาว แถมมีลวดลายปักที่เจ้าของบ้านเลือกเอง แน่นอนผ้าปูโต๊ะแบบนี้เจ้าของไม่ต้องกลัวเปื้อนไวน์แดงอีกต่อไป

ตีพิมพ์ใน B-1 Magazine Volume 4 Issue 44 May 2011 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น